|
|
|
|
:: สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ :: |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
โรคหอบ โรคหืด
( Dyspnea , Asthma : 喘 , 哮 )
|
โรคหอบ (Dyspnea) จัดเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอย่างหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดลมทำให้หายใจยากลำบาก ในผู้ป่วยบางรายที่เกิดอาการรุนแรงอาจต้องอ้าปากยกไหล่หายใจ หายใจจมูกบานนอนราบไม่ได้
โรคหืด (Asthma) เป็นโรคที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโรคหอบ ทำให้หายใจลำบาก หายใจไม่เต็มปอด มีอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด
โดยสาเหตุของโรคหอบ โรคหืด เกิดจากการที่หลอดลมในระบบทางเดินหายใจมีสภาวะไวต่อการกระตุ้นต่อสารก่อภูมิแพ้ และสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการภุมิแพ้เข้าไปในระบบทางเดินหายใจเป็นผลให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ หรือทำให้เกิดการอักเสบ ทำให้ระบบทางเดินหายใจ เช่นหลอดลมเกิดอาการหดเกร็งตีบตัน ทำให้หายใจได้ลำบาก ในรายที่เป็นหนักมากจะถึงขั้นหายใจไม่ออก
โดยปกติ โรคหอบกับโรคหืด มักจะจัดอยู่ด้วยกัน มีหืดก็ต้องมีหอบ เมื่อหืดกำเริบก็จะมีอาการหายใจลำบาก แต่ถ้าเป็นหอบไม่จำเป็นต้องมีหืดก็ได้
|
|
|
สาเหตุของการเกิดโรคหอบโรคหืด
1. พันธุกรรม ในบางครั้งอาการหอบหืดเกิดจากการได้รับยีนส์ด้อยมาจากบิดา - มารดาทำให้เป็นหอบหืดจากพันธุกรรมได้
2.โรคภูมิแพ้ เนื่องจากการเป็นโรคภูมิแพ้เป็นปัจจัยหนึ่งของอาการหอบหืด เพราะการเกิดอาการหอบหืดเกิดมาจากการแพ้สิ่งเร้า ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้นั่นเอง
3.พันธุกรรม ในผู้ป่วยหลายคนมีอาการหอบหืด โดยรับมาจากบิดา - มารดา หากบิดา - มารดา มีโรคหอบหืดแล้วจะมีโอกาสที่ลูกที่เกิดมาจะมีอาการของโรคหอบหืดติดมาด้วย
4.สารเคมีบางชนิด เนื่องจากสารเคมีบางชนิดจะมีผลต่อร่างกาย และระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นหากร่างกายได้รับสารเคมีบางอย่างมากเกินไปจึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดได้
5.สภาวะอารมณ์ เช่น อารมณ์โศกเศร้าเสียใจ อารมณ์โกรธ และอารมณ์อื่น ๆ ในผู้ป่วยบางรายสาเหตุของโรคหอบหืดเกิดจากการที่มีอารมณ์ด้านลบ เพราะเมื่อเกิดอารมณ์ด้านลบ ร่างกายจะเกิดการเกร็งเป็นผลให้หลอดลมหดเกร็งจนทำให้เกิดอาการหอบหืดกำเริบได้
|
|
|
อาการของโรคหอบโรคหืด
อาการของโรคหอบโรคหืดในแต่ละรายจะมีอาการที่ต่างกัน ซึ่งอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ต่ออาการเจ็บป่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งอาการต่าง ๆ ของโรคหอบ โรคหืด มีดังนี้
- หายใจไม่เต็มอิ่ม ผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจกล่าวคือมีอาการหายใจไม่เต็มปอด หายใจได้ไม่เต็มที่ หรือหายใจไม่อิ่ม ในบางรายอาจหายใจแล้วมีเสียงวี้ดอยู่ในลำคอ ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์เป็นอย่างมาก
- มีอาการแน่นหน้าอก ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก มีอาการอึดอัดทำให้หายใจได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาการดังกล่าวอาจมีอาการเหนื่อยหอบ หรือมีอาการไอร่วมด้วย
- อาการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหอบหืด มักจะมีปัญหานอนไม่หลับเนื่องจากอาจมีปัญหาหายใจติดขัดระหว่างนอนทำให้ต้องตื่นระหว่างนอนทำให้นอนหลับไม่สนิท
- เหนื่อยง่าย หอบง่าย ในผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืด มักจะเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ เพราะระบบการหายใจของผู้ป่วยมักจะมีอาการผิดปกติทำให้เหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน
|
|
|
การจำแนกกลุ่มอาการของโรคหอบ
เนื่องจากทางศาสตร์แพทย์แผนจีนมองว่าโรคหอบ และโรคหืดเกิดจากอาการที่ต่างกัน จึงมองว่าเป็นคนละโรคดังนั้นทางแพทย์แผนจีนจึงมีวิธีการรักษาดังนี้
1.หอบชนิดแกร่ง 实喘
1.1 เกิดจากลมเย็นมากระทำ 风寒壅肺证
อาการทางคลินิก : หายใจหอบ หายใจถี่ รู้สึกอึดอัดแน่นหน้าอก ลักษณะเสมหะมากใส สีขาว กลัวหนาว ไม่มีเหงื่อ ปวดเมื่อยตามตัว
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นมีฝ้าขาว ชีพจรลอยแน่น
กลไกการเกิดโรค : มีลมเย็นภายนอกมากระทำ ทำให้การกระจายชี่ปอดผิดปกติ
1.2 ภายในร้อยภายนอกเย็น 表寒肺热证
อาการทางคลินิก : มีหอบเป็นหลัก ปวดแน่นหน้าอก ลมหายใจหยาบใหญ่ จมูกบาน มีกลุ่มอาการเย็นภายนอก คือกลัวหนาว ปวดเมื่อยตามตัว มีกลุ่มอาการร้อนภายใน คือกระหายน้ำ ตัวร้อน เสมหะเหลืองข้น
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรเร็ว
กลไกการเกิดโรค : ภายในปอดร้อนต่อมาถูกความเย็นห่อหุ้มอีก ทำให้ชี่ปอดไหลย้อนและหอบ
1.3 เกิดจากลมร้อนมากระทำ 痰热郁肺证
อาการทางคลินิก : หายใจหอบมาก เจ็บหน้าอก มีเสมหะมาก สีเหลืองเหนียวข้น มีกลุ่มอาการร้อนภายใน เหงื่อออก กระหายน้ำ ชอบดื่มน้ำเย็น หน้าแดง คอแห้ง ปัสสาวะเหลือง ท้องผูก
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว
กลไกการเกิดโรค : ในปอดมีเสมหะร้อนสะสมอยู่ ทำให้การกระจายชี่ปอดไม่ปกติ
1.4 มีเสมหะอุดกั้นในปอด 痰浊阻肺证
อาการทางคลินิก : หอบ อึดอัด แน่นหน้าอก เหนื่อยหายใจไม่ได้ ไอ เสมหะมาก เสมหะเหนียวสีขาว การขับเสมหะไม่คล่อง ผะอืดผะอม รับประทานได้น้อย ปากเหนียวเหมือนกระหายน้ำ
ลักษณะลิ้นและชีพจร : มีฝ้าเหนียว ชีพจรลื่นหรือนุ่ม
กลไกการเกิดโรค : มีเสมหะสกปรกไปอุดกั้นปอด ทำให้ชี่ปอดไม่สามารถกระจายออก และเคลื่อนลงล่าง อาการสำคัญนอกจากหอบคือเสมหะมาก
1.5 ชี่ปอดถูกปิดกั้น 肺气郁痹证
อาการทางคลินิก : หายใจถี่กระชั้น เสียงหอบจะหยาบ รู้สึกแน่นหน้าอก อาการมักเกิดจากมีการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ ผู้ป่วยมักเป็นคนคิดมาก หรือเก็บกดไม่แสดงออก อาจมีอาการนอนไม่หลับ ใจสั่นร่วมด้วย
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นฝ้าขาว ชีพจรตึง
กลไกการเกิดโรค : ชี่ตับไม่กระจาย ไม่ระบาย ทำให้ชี่ไหลย้อนกลับไปข่มปอด ทำให้ชี่ปอดกระจายตัวผิดปกติ
2.หอบชนิดพร่อง 虚喘
2.1 ชี่ปอดพร่อง 肺气虚耗证
อาการทางคลินิก : หายใจหอบ สั้นถี่ ลักษณะเสียงหอบเสียงต่ำไม่มีพลัง ร่วมกับอาการชี่ปอดพร่อง เช่น กลัวลม ไม่มีแรง เหงื่อออกง่าย หรือมีอาการอินปอดพร่อง เช่น ไอแห้ง เสมหะน้อย โหนกแก้มทั้งสองข้างแดง
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นซีด ชีพจรละเอียดอ่อนแรง
กลไกการเกิดโรค : ชี่ปอดพร่อง ไม่สามารถกำกับชี่ได้
2.2 ไตพร่อง 肾虚不纳证
อาการทางคลินิก : ป่วยมานาน หายใจเข้าน้อย หายใจไม่ทั่วท้อง หรือไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวหรือทำงานจะหอบมากขึ้น จะมีอาการของไตพร่อง เช่น ไม่มีแรง เมื่อยเอวเข่าอ่อน ปวดส้นเท้า บางคนค่อนไปทางหยางไตพร่อง มีอาการบวมน้ำ ตัวเย็นมือเย็น หน้าคล้ำซีด บางคนค่อนไปทางอินไตพร่อง มีอาการหน้าแดง กระสับกระส่าย คอแห้ง ปากแห้ง
กลไกการเกิดโรค : เมื่อเจ็บป่วยนานเรื้อรังจะกระทบต่อไต ทำให้ไตไม่สามารถรั้งชี่ไว้ได้
3.หอบจนหลุด 喘脱
อาการทางคลินิก : หอบ หายใจรุนแรงมาก มีอาการยกไหล่ อ้าปาก หายใจจมูกบาน นอนราบไม่ได้ ต้องนั่งพิงฝา มีเสียงเสมหะดังในลำคอ ใจหวิวใจสั่น กระสับกระส่าย หน้าตาอมคล้ำ เหงื่อแตกเม็ดเท่าไข่มุก
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ชีพจรลอยไม่มีราก หรือชีพจรเต้นเต้นหยุดหยุด คลำไม่ชัด มีลักษณะของการขาดออกซิเจนหรือระบบการหายใจล้มเหลว เป็นกลุ่มอันตราย
|
|
|
การจำแนกกลุ่มอาการของโรคหืด
1.หืดเย็น 冷哮
อาการทางคลินิก : หายใจลำบาก มีเสียงเสมหะในลำคอ อึดอัดทรวงอกลิ้นปี่
ไอบ้างเล็กน้อย เสมหะปริมาณไม่มาก สีใสหรือขาว ไม่กระหายน้ำ ชอบดื่มน้ำร้อน
มีอาการกลัวหนาว สีหน้าหมองคล้ำ ถ้าอากาศเปลี่ยนเป็นเย็น
หรือถูกความเย็นจะกำเริบ
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นฝ้าขาวลื่น ชีพจรตึงแน่น
กลไกการเกิดโรค :
มีเสมหะแอบอยู่ในปอดและยังมีปัจจัยภายนอกอันเกี่ยวข้องกับความเย็นมาเร่ง
เสมหะจะไปอุดกั้นทางเดินปอด ส่งผลให้ชี่ปอดไม่กระจายปอด
เกิดภาวะชี่ปอดย้อนกลับ อาการแสดงออกเป็นหืดเย็น
2.หืดร้อน 热哮
อาการทางคลินิก : หอบเสียงสูง มีลักษณะลมหายใจหอบหยาบใหญ่
มีอาการไอแบบสำลัก เสมหะเหนียวข้น มีกลุ่มอาการความร้อน คือหน้าแดง
เหงื่อออก ปากขม กระหายน้ำ ต้องดื่มน้ำ
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว
กลไกการเกิดโรค : มีเสมหะร้อนสะสมในปอด อุดกั้นทางเดินปอด ทำให้การกระจายชี่ปอดลงล่างไม่คล่อง จึงย้อนกลับขึ้นข้างบน
3.ภายในมีร้อนภายนอกมีเย็น 寒包热哮
อาการทางคลินิก : มีเสียงของเสมหะในลำคอ มีอาการอึดอัดแน่นลิ้นปี่ ทรวงอก
หายใจหอบถี่ ไอ เสมหะเหลืองข้นเหนียว กระหายน้ำ หงุดหงิด กระสับกระส่าย
ท้องผูก และมีลักษณะเย็นภายนอกคือ กลัวหนาว ตัวร้อน ไม่มีเหงื่อ
ปวดเมื่อยตามตัว
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ปลายลิ้นและขอบลิ้นแดง ฝ้าขาวเหนียวหรือเหลืองเหนียว ชีพจรตึงแน่น
กลไกการเกิดโรค : มีเสมหะร้อนอยู่ก่อนแล้วต่อมาถูกความเย็นมากระทบ
ทำให้เป็นหวัดเย็น เกิดภาวะมีความเย็นมาห่อไฟ มีผลต่อการกระจายชี่ปอด
ทำให้อาการหืดร้อนกำเริบ
4.หืดเกิดจากลมเย็น 风寒哮
อาการทางคลินิก : มีเสมหะในลำคอ มีอาการไอหอบ นอนราบไม่ได้
แน่นหน้าอก มีเสมหะน้ำลายค่อนข้างมาก อาการกำเริบเฉียบพลัน
เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ฝ้าเหนียวข้น ชีพจรลื่นมีแรง
กลไกการเกิดโรค : ภายในปอดมีเสมหะแอบแฝงอยู่ มีลมจากภายนอกมากระตุ้นทำให้ชี่ปอดกระจายออกมาไม่ได้ ทำให้อาการกำเริบ
5.หืดที่มีลักษณะพร่อง 虚哮
อาการทางคลินิก : อาการกำเริบบ่อย เวลากำเริบจะได้ยินเสียงเสมหะ
และมีกลุ่มของอาการชี่พร่อง เช่น เสียงหอบต่ำ ไม่มีแรง หายใจสั้น
หรือมีอาการอินพร่อง เช่นอาการปากแห้งคอแห้ง อยากดื่มน้ำ
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นอาจซีดหรืออาจจะแดง ชีพจรจมละเอียดหรือละเอียดเร็ว
กลไกการเกิดโรค : มีเสมหะอุดกั้นและมีการคั่งของเลือดร่วมกัน มีกลุ่มอาการของปอดและไตพร่อง ทำให้ระบบการหายใจเข้าออกผิดปกติ
ระยะสงบของอาการหืด (ช่วงที่ร่ายกายสามารถควบคุมภาวะของโรคให้อยู่ในภาวะปกติได้)
1.กลุ่มอาการชี่ปอดและม้ามพร่อง 肺脾气虚
อาการทางคลินิก : ชี่พร่อง ไม่ค่อยอยากพูด เสียงเบาไม่มีแรง
อาจมีเสียงเสมหะในลำคอ แต่ไม่ดังมาก เสมหะใสขาว ถ้าชี่ปอดพร่อง
จะมีอาการกลัวลม เหงื่อออกง่าย เป็นหวัดง่าย ถ้าเป็นชี่ม้ามพร่อง
จะมีอาการเบื่ออาหาร ถ่ายเหลว
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ชีพจรละเอียดอ่อนแรง
2.กลุ่มอาการปอดและไตพร่อง 肺肾两虚
อาการทางคลินิก : รู้สึกหายใจเข้าไม่พอ มีกลุ่มอาการของไตพร่อง คือ
มีเสียงดังในหู เมื่อยเอวเข่าอ่อน ไม่มีแรง
ลักษณะของไตพร่องอาจจะค่อนไปทางหยางหรืออินพร่องก็ได้ ถ้าหยางพร่อง
จะมีอาการขี้หนาว มือเท้าเย็น หน้าซีด ชีพจรละเอียดเร็ว ถ้าอินพร่อง
จะมีอาการร้อนทั้งห้า ปากคอแห้ง
ลักษณะลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดงฝ้าน้อย ชีพจรจมเล็ก
|
|
|
การบำบัดรักษาทางแพทย์แผนจีน
1.ทานยาสมุนไพรจีนแคปซูลที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง ตามแต่ละอาการ เช่น
- อาการหอบจากกลุ่มอาการลมเย็นมากระทำ ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ กระจายชี่ปอด สลายความเย็น บรรเทาอาการหอบ
- อาการหอบจากกลุ่มอาการภายในร้อนภายนอกเย็น ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ ขจัดความเย็นภายนอก ขจัดความร้อนภายใน ขับเสมหะ บรรเทาอาการหอบ
- อาการหอบจากกลุ่มอาการเกิดจากลมร้อนมากระทำ ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ ขับเสมหะ ขจัดความร้อน กระจายชี่ปอด บรรเทาอาการหอบ
- อาการหอบจากกลุ่มอาการมีเสมหะอุดกั้นในปอด ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ ขับเสมหะ ลดชี่ปอด กระจายชี่ปอด บรรเทาอาการหอบ
- อาการหอบจากกลุ่มอาการชี่ปอดถูกปิดกั้น ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ ขจัดอาการอัดอั้น ลดอาการชี่ปอดไหลย้อนกลับ บรรเทาอาการหอบ
- อาการหืดจากกลุ่มอาการหืดเย็น ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ อุ่นปอดสลายความเย็น ขับเสมหะ หยุดหืด
- อาการหืดจากกลุ่มอาการหืดร้อน ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ ขจัดความร้อน สลายเสมหะ กระจายชี่ปอด ระงับหืด
- อาการหืดจากกลุ่มอาการภายในมีร้อนภายนอกมีเย็น ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ ขจัดความเย็นภายนอก ขจัดความร้อน สลายเสมหะ
2.ฝังเข็มตามกลุ่มอาการของโรค ทำการฝังเข็มปรับสมดุลร่างกายตามกลุ่มอาการ
- อาการหอบจากกลุ่มอาการชี่ปอดพร่อง ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ บำรุงชี่ปอด
- อาการหอบจากกลุ่มอาการไตพร่อง ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ บำรุงไต เพื่อให้สามารถดูดรั้งชี่
- อาการหอบจากกลุ่มอาการหอบจนหลุด ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ พยุงหยาง หยุดอาการหลุด บำรุงไตให้รั้งชี่ให้ได้มากที่สุด
- อาการหืดจากกลุ่มอาการหืดเกิดจากลมเย็น ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ ไล่ลม ขจัดเสมหะ ลดชี่ปอด บรรเทาอาการหืด
- อาการหืดจากกลุ่มอาการหืดที่มีลักษณะพร่อง ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ ทั้งบำรุงและระบายพร้อมกัน คือ บำรุงปอดไต สลายเสมหะลดชี่ลง
- อาการหืดจากกลุ่มอาการชี่ปอดและม้ามพร่อง ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ บำรุงม้ามเพื่อเสริมสร้างปอด
- อาการหืดจากกลุ่มอาการปอดและไตพร่อง ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ บำรุงปอดไต โดยบำรุงไตเป็นหลัก
3.การนวดกดจุด ตามจุดฝังเข็มเพื่อบรรเทาอาการหอบหืด
4.การกัวซา ตามจุดต่าง ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด และช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น
|
|
|
สมุนไพรบรรเทาอาการหอบหืด
1.ใบกะเพรา นำใบกะเพรา 1-2 กำมือต้มในกาให้เดือดแล้วสูดไอน้ำที่มีสารระเหยของกะเพรา ควรทำเวลาอากาศเย็น หรือเวลาเช้าและก่อนนอน เพื่อคลายการอุดตันในโพรงจมูก
2.หอมแดง เนื่องจากหอมแดงมีสรรพคุณช่วยแก้หวัดคัดจมูก ทำให้หายใจคล่องขึ้น การใช้หอมแดงสามารถใช้เหมือนใบกะเพรา คือต้มแล้วสูดไอระเหย หรือนำเป็นส่วนประกอบของอาหารก็ได้
3.ดอกปีบ ในบางถิ่นจะเรียกกาซะลอง จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับดอกแค ดอกปีบมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการหอบหืด ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจโล่งขึ้น โดยนำดอกปีบตากแห้งมาม้วนด้วยใบตองตากแห้งแล้วสูบเหมือนบุหรี่ หรือนำดอกปีบมาทำอาหาร
4.หนุมานประสานกาย เป็นสมุนไพรโบราณมีสรรพคุณแก้หอบหืด แก้หลอดลมอักเสบ จัดเป็นยาที่ช่วยรักษาระบบทางเดินหายใจ วิธีการใช้นำใบสด 2 - 3ใบ เคี้ยวจนกว่าจะจืดแล้วคายทิ้ง หรือนำไปต้มดื่มเป็นชา
|
|
|
คำแนะนำจากแพทย์แผนจีน
1.ไม่ควรนอนดึก ควรนอนไม่เกิน 22.00 น.
2.ควรจิบน้ำเรื่อย ๆ ทั้งวันให้ได้ 2.5 - 3 ลิตร
3.ควรงดเว้นการทานอาหาร มัน ทอด ปิ้ง ย่าง
4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นทำความสะอาดเครื่องนอน
5.หลีกเลี่ยงน้ำเย็น น้ำแข็ง อาหารฤทธิ์เย็น
6.หลีกเลี่ยงสารก่อให้เกิดอาการกำเริบ เช่น ฝุ่น ควัน โรงงาน สัตว์เลี้ยง ดอกไม้
|
|
|
อาการหอบหืดเป็นอาการที่จัดว่าเป็นอาการที่อันตรายเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นโรคที่ไมา่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาการของโรคจะเกิดขึ้นเมื่อใด หากอาการกำเริบในช่วงสำคัญ เช่น ระหว่างขับรถ ระหว่างใช้เครื่องจักรอันตราย หรือ อื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตนเอง และผู้อื่นได้
ดังนั้นอาการหอบหืดจึงไม่ควรปล่อยไว้นาน ยิ่งนานอาการยิ่งหนักขึ้น การรักษาก็จะยิ่งยากขึ้น ดังนั้นการรักษาอาการของโรคก่อนที่จะเป็นหนักจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
|
|
|
หมายเหตุ ผลการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ความรุนแรงของโรค ระยะเวลาในการเป็น และปัจจัยอื่น ๆ |
|
|
|